ข่าวชาวสงขลานครินทร์

บพท. ร่วมกับ ม.อ. และสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ ชูซอฟท์พาวเวอร์ผ่าน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคใต้” พร้อมหนุนงาน “Eat Pray Love @หาดใหญ่”




    หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันอุดมศึกษาอีก 9 แห่งในภาคใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมจัดงาน “มหกรรมทุนวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง: จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่” ระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อแสดงผลการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมที่มาจากงานวิจัย ภายใต้ "กรอบวิจัยมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่" ซึ่งหน่วย บพท.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยระหว่างปี 2563-2565 รวมทั้งสิ้น 48 โครงการทั่วประเทศ มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและขยายผลการรับรู้ในวงกว้างถึงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมจาก “คุณค่าสู่มูลค่า” ทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งเปิดตัว Cultural Map Thailand ที่เชื่อมโยง 2,621 ชุดข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมไว้ที่ www.culturalmapthailand.info โดยมุ่งให้เป็นขุมพลังซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศที่ถักทอจากทุนทางวัฒนธรรมฐานราก



    สำหรับมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองในครั้งนี้ เลือกพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นภูมิภาคแรกของการจัดงาน โดยกิจกรรมหลักประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการผลงานด้านการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 12 โครงการ ในพื้นที่อาคารยิบอินซอย การออกบูธแสดงสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของผู้ประกอบการวัฒนธรรมทั่วภาคใต้ เช่น ผ้าพุมเรียง ผ้ามัดย้อม ลีมาบาติก ลูกปัดมโนราห์ อาหารปากีสถาน ผลิตภัณฑ์จากโหนดนาเล ผลิตภัณฑ์ผ้าจาก D’Nibong จ.ยะลา นอกจากนี้ ยังรวบรวมศิลปะการแสดงทุนทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น เพลงบอกสิงกอร่า ดิเกร์ฮูลู ระบำว่าวควาย ระบำร็องเง็ง หนังตะลุง ปัญจักสีลัต ระบำโนรา ระบำม่อลีฮัว วิถีจีนเมืองเก่าสงขลา คำตัก มุตโตโชว์พราว โนราดาวรุ่ง ฯลฯ โดยไฮไลท์ของงานคือ การเปิดพื้นที่ให้โนราเยาวชนกว่า 200 ชีวิต มาร่ายรำศิลปะการแสดงบนท้องถนนเพื่อร่วมเฉลิมฉลองที่ “UNESCO” ยกให้ “มโนราห์” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ




    กิจกรรมสำคัญ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ช่วงเวลา 16.00-20.00 น. มีพิธีเปิดเทศกาลเฉลิมฉลองทุนวัฒนธรรมของหาดใหญ่ผ่านอาหาร ความศรัทธา และความรัก ภายใต้ชื่องาน “EAT PRAY LOVE @ Hatyai” ซึ่งเทศบาลนครหาดใหญ่ นำโดย พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ร่วมกับ หอการค้าจังหวัดสงขลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยเป็นการต่อยอดผลผลิตจากงานวิจัย “นครหาดใหญ่บนฐานทุนทางวัฒนธรรมตามอัตลักษณ์ของชุมชน” ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งจัดปีนี้เป็นปีที่ 2 และเทศบาลนครหาดใหญ่ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน จำนวน 500,000 บาท โดยจัดขึ้นในพื้นที่บริเวณเดียวกันกับมหกรรมฟื้นใจเมืองภาคใต้






    จากนั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของ บพท. ประกอบด้วย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายจาดุร อภิชาตบุตร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการหน่วย บพท. ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิ นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) รวมทั้ง นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมแสดงพลังขับเคลื่อนแนวคิดทุนวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง เริ่มจากการลงพื้นที่เยี่ยมชม “วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี” ซึ่งเป็นผลงานจากโครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี (Pattani Heritage City) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จากนั้นในช่วงเย็นจึงเป็นพิธีเปิดงานที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ โดยมีผู้บริหาร บพท. ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันอุดมศึกษาในภาคใต้ที่ร่วมจัดงาน นอกจากนี้ ยังมีภาคีเครือข่ายผู้บริหารและนักวิจัยขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมจากสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมอย่างคับคั่ง เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ฯลฯ


    วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของมหกรรม มีการแสดงที่เป็นไฮไลท์ คือ การแสดงกรายท่าลีลาคล้องหงส์ มวยไชยา และการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นเมืองภาคใต้ โดยกิจกรรมทั้งสามวันมีการแสดงที่เป็นไฮไลท์ การจัดแสดงแสงสีย้อมอาคารชิโนยูโรเปียน พร้อมร้านอาหาร Chef Table การแสดงศิลปะบนท้องถนน และมุมถ่ายภาพต่างๆ เป็นจำนวนมาก ภายในอาคารยิบอินซอย ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนพื้นที่ ถือเป็นงานเทศกาลครั้งยิ่งใหญ่ที่รวมเอาคุณค่าทุนทางวัฒนธรรมจากทั่วทั้งภาคใต้ผ่านผลงานวิจัยมาให้สาธารณชนได้รับรู้ โดยหวังว่าจะก่อให้เกิดสำนักรักท้องถิ่นของคนรุ่นใหม่ ร่วมภาคภูมิใจกับอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของความเป็นชาวใต้ และสามารถนำมาต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ได้ในอนาคต