ข่าวชาวสงขลานครินทร์

PSU Healthcare Tech คณะวิศวะฯ ม.อ. รับมอบใบประกาศรับรองคุณภาพ จาก TÜV SÜD พัฒนาเครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐานสากล




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ รับมอบใบประกาศรับรองคุณภาพ EN ISO 13485 : 2016 จาก TÜV SÜD ซึ่งเป็นผู้ตรวจกระบวนการการออกแบบและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และออกใบรับรองการตรวจสอบการจัดการคุณภาพ เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์ของห้องปฏิบัติการ PSU Healthcare Tech คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการผลิตตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพทางการแพทย์สูงสุด โดยมี รศ. นพ.สุนทร วงษ์ศิริรักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ม.อ.เป็นประธาน พร้อมด้วย ผศ. ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ณัฏฐา จินดาเพ็ชร รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ร่วมรับมอบ จาก นายกุลธัช บุญบงการ ผู้จัดการทั่วไป TÜV SÜD Thailand ณ ห้องประชุมดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 66



    สำหรับ PSU Healthcare Tech เป็นหน่วยงานภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการจัดตั้งเพื่อทำงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยการนำร่องเทคโนโลยีทางกายภาพบำบัด ซึ่งจะทำงานเชื่อมโยงและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ หรือ บริษัทจัดหา (Provider) ภายในประเทศ เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านการแพทย์ ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ประกอบธุรกิจการออกแบบและพัฒนาระบบและอุปกรณ์การติดตามการรักษา การทำกายภาพบำบัด และการดูแลสุขภาพ 



    นอกจากนี้ PSU Healthcare Tech มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และให้บริการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ ทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ จึงได้มีการกำหนดนโยบายคุณภาพ คือ "มุ่งมั่นออกแบบและพัฒนาระบบ อุปกรณ์ติดตามผลการรักษา การทำกายภาพบำบัด และการดูแลสุขภาพให้ได้มาตรฐาน ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเพื่อประโยชน์สู่สังคม"




    PSU Healthcare Tech ได้ดำเนินการตามระบบบริหารคุณภาพ ISO 13485: 2016 โดยมีขอบเขตครอบคลุมการออกแบบและพัฒนา ระบบและอุปกรณ์การติดตามการรักษา การทำกายภาพบำบัด และการดูแลสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่
  1. ระบบประมวลผลภาพสำหรับการวัดองศาของการเคลื่อนไหวข้อไหล่เพื่อใช้ในผู้ที่มีปัญหาข้อไหล่ติดหัวไหล่ (Shoulder joint rehabilitation monitoring devices) ระบบคอมพิวเตอร์วิทัศน์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในการทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อไหล่ติด ระบบทำการวัดองศาของการเคลื่อนไหวข้อไหล่ วัดผลแบบไม่สัมผัส สะดวกต่อการใช้งาน แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดสามารถปรับเกณฑ์การฝึกฝนให้สอดคล้องกับผู้ป่วย สามารถติดตามผลของการรักษาได้ กระตุ้นความต้องการในการฝึกฝน สามารถบันทึกและรายงานผลแบบอัตโนมัติ
  2. ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า (Knee rehabilitation monitoring devices) ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่าประกอบด้วยตัวอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของข้อเข่า และระบบติดตาม
  3. ระบบประมวลผลภาพสำหรับติดตามการทำกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูปริมาตรปอด (Lung volume monitoring devices) เครื่องติดตามผลการฟิ้นฟูของปริมาตรปอด โดยการวัดความจุปอดจากการฝึกการหายใจเข้า เพื่อติดตามผลการฟื้นฟูของปริมาตรปอดด้วยเทคนิคการวัดค่าแบบไม่สัมผัส โดยใช้การประมวลผลภาพดิจิตอลจากภาพการใช้งานอุปกรณ์กระตุ้นการฟื้นฟูปริมาตรปอด
  4. ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยบริหารกล้ามเนื้อหายใจ (Respiratory therapy devices) อุปกรณ์ฝึกหายใจ BreathMAX ที่ใช้แรงดันน้ำกระทำต่อท่อลมโดยตรง เพื่อวัดแรงดันอากาศที่เปลี่ยนไประหว่างการฝึกหายใจและปริมาตรปอด