ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ศิลปศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับ ม.ทักษณ และ มทร.ศรีวิชัย จัดงานสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ: สืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา




    คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ และสำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมงานสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ: สืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบทอด และส่งเสริมวัฒนธรรมวันสารทเดือนสิบ ให้ดำรงอยู่ในสังคมถิ่นใต้และสังคมไทย พร้อมทั้งเผยแพร่ประเพณีบุญสารทเดือนสิบให้แก่นักศึกษา บุคลากร ได้เรียนรู้ประเพณีอย่างถูกต้อง



โดยมีการแสดงชุด “สืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา สู่ยูเนสโก” แสดงโดย ผศ. ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) อาจารย์วีระเดช ทองคำ และนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 



    โอกาสนี้ ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผศ. ดร.กานดา จันทร์แย้ม คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมยินดี กับ ผศ. ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากกระทรวงวัฒนธรรม และ คุณเนติพงศ์ ไล่สาม ที่ได้รับยกย่องเป็น ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2565 จากสถาบันศิลปหัตถกรรมไทย



จากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อ “สืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา” โดย ผศ. ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ รศ. ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ คุณเนติพงศ์ ไล่สาม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2565 ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์หัตถกรรมลูกปัดมโนราห์ บ้านขาว และ ดร.รื่นฤทัย รอดสุวรรณ อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาศิลปกรรมและออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ดำเนินรายการโดย ผศ. ดร.เรวดี อึ้งโพธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและกิจการพิเศษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กานดา จันทร์แย้ม คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า พันธกิจหลักของคณะ คือการอนุรักษ์วัฒนธรรม เราเล็งเห็นว่าวัฒนธรรม ควรได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ดังนั้นทางคณะได้มีการทำเว็บไซต์ ชื่อว่า น้ำชุบดอดคอม https://www.naamchoop.com เพื่อให้ผู้ที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าอยู่ในส่วนใดของโลก ร่วมประเพณีวันสาร์ท โดยสามารถแห่หมรับ ออนไลน์ การได้เข้าร่วมเป็นการปลูกฝังการตระหนักถึงศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ ไม่ให้สูญหาย

    ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า งานสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ: สืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา มี ผศ. ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2564 สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์ทางด้านมโนราห์ อันเป็นศิลปะการแสดงที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปีพุทธศักราช 2564 ซึ่งอยู่คู่กับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ของคนใต้มาอย่างยาวนาน เป็นซอฟเพาเวอร์ที่จะดึดดูดคนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาบ้านเรา ในช่วงที่เราขับเคลื่อนเรื่องมรดกโลก เป็นส่วนส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง น่าสนใจมากขึ้น เป็นการเสริมสร้างมงคลให้กับชีวิตและครอบครัว ในกิจกรรมส่งตายายบุญเดือนสิบ ทุกวัดในภาคใต้ ที่จะจัดในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565 นี้



นอกจากนี้ ยังจัดนิทรรศการ หัวข้อ “สืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา” หลากหลายกิจกรรม ประกอบด้วย การสาธิตการชิงเปรต โดย สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ การสาธิตการรำโนรา โดยสำนักการจัดการนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย การสาธิตการทำขนมเดือนสิบ โดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การสาธิตการทำขนมประจำประเพณีเดือนสิบ โดย สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ การจำหน่ายขนมประจำประเพณีบุญสารทเดือนสิบ การสาธิตการร้อยลูกปัดโนรา โดยชมรมรักษ์โนรา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม การสาธิตการร้อยลูกปัดโนรา โดย Nera (เนติพงศ์ลูกปัดโนรา) การจำหน่ายหัตถกรรมลูกปัดโนรา โดย Nera (เนติพงศ์ลูกปัดโนรา) และผลงานและนวัตกรรมที่ต่อยอดจากงานวิจัย โดย ดร.รื่นฤทัย รอดสุวรรณ อาจารย์ประจำหลักสูตร สาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาศิลปกรรมและออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย