ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.สงขลานครินทร์ เตรียมพลิกโฉมหลักสูตร สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากเทคโนโลยีอวกาศ




    รองศาสตราจารย์ ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านอวกาศของประเทศไทย เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะในการเรียนรู้ด้านสมองกลหรือบอร์ดคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมวงโคจรของดาวเทียมซึ่งมีราคาแพงและต้องใช้ความชำนาญสูง ซึ่งการพัฒนาด้านดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จจะเป็นการสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์และเทคโนโลยี่เกี่ยวข้องกับด้านดาวเทียม และการสร้างคนรุ่นใหม่ด้านเทคโนโลยีอวกาศ



    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้ง “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีหน่วยงานร่วมลงนามทั้งสิ้น 12 หน่วยงานที่มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่กำลังศึกษาเรียนรู้เรื่องดังกล่าว รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งร่วมจัดแสดงผลงานอุปกรณ์ด้านอวกาศของคณาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งพัฒนาร่วมกันกับ GISTDA เป็นการพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์และเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับด้านดาวเทียม เพื่อสร้างกลุ่มผู้รู้และถ่ายทอดให้แก่เยาวชนให้เป็นกำลังเพื่อพัฒนาด้านอวกาศและเศรษฐกิจด้านอวกาศ ซึ่งการสร้างบุคลากรด้านนี้เป็นประเด็นสำคัญและมีหลายหน่วยงานในเครือข่ายความร่วมมือได้มีแนวคิดโครงการสร้างดาวเทียมอยู่แล้ว จึงต้องการให้มีการกระจายความรู้ด้านนี้ออกไปให้ทั่วถึงเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า

    การเข้าร่วมใน “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกิดจากความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านอวกาศของประเทศไทยเช่น GISTDA และ NARIT ทำให้เครือข่ายได้ทราบถึงขีดความสามารถด้านนี้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  แต่ในระยะต่อไปจะมีการขยายเครือข่ายความร่วมมือให้มากขึ้นโดยเชิญอีกหลายมหาวิทยาลัยซึ่งมีความพร้อมด้านนี้เข้ามามีส่วนร่วม



    สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ คือการได้เข้าไปอยู่ในเครือข่ายที่จะเป็นแกนหลักของประเทศ ในการพัฒนาด้านกิจการอวกาศและเศรษฐกิจอวกาศ ตามนโยบายการสร้างคุณค่าเศรษฐกิจใหม่ๆ ของประเทศ เป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้นำเทคโนโลยีและนโนบายไปใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ และเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกโฉมเศรษฐกิจของภาคใต้ จากเดิมที่เคยหวังพึ่งด้านการท่องเที่ยวมาตลอด มาเป็นการเริ่มต้นเปิดโอกาสให้คนในภาคใต้ได้เตรียมความพร้อมด้วยการมีองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีก 10 ปีข้างหน้า

    โดยในเบื้องต้น สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม จะเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่เป็นแกนหลัก ในการทำหลักสูตรด้านอวกาศ โดยจะร่วมมือกับคณะวิชาที่มีศาสตร์ด้านอวกาศ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ในการเปิดหลักสูตรตั้งแต่ระยะสั้น ปริญญาตรี และ ปริญญาโท ซึ่งเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปแบบหนึ่ง เมื่อหลักสูตรมีความเข้มแข็งจะมอบหมายความรับผิดชอบให้แต่ละคณะต่อไป โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัย โครงสร้างบุคลากร และความพร้อมของหน่วยงานที่ร่วมในภาคีความร่วมมือ เพื่อเป็นการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยโดยการนำความรู้ใหม่ๆ มาสร้างเป็นหลักสูตร เพื่อสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่จากเทคโนโลยีด้านอวกาศ