ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ปริญญากิตติมศักดิ์ ประจำปี พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์




    สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การประถมศึกษา) แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

    รวมทั้งมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564 ในวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จะเสด็จแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 จำนวน 8,176 คน โดยมีรายนามผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ดังนี้



เภสัชกรหญิง ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เป็นผู้ที่ทุ่มเทในการทํางานด้านการใช้ประโยชน์ของสมุนไพรไทย เป็นประธานยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นต้นแบบในการดําเนินงานด้านการพัฒนาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยของกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ที่มีบทบาทสําคัญในการก่อตั้ง “วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” รวมกับมหาวิทยาลัยบูรพา จนทําให้สามารถเริ่มรับนักศึกษาการแพทย์แผนไทย ในปีพุทธศักราช 2549 ทําการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้สมุนไพร “ภูมิภูเบศร” เพื่อให้ประชาชนสามารถมาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการปรุงยาเพื่อการพึ่งตนเอง และสร้างสรรค์ผลิตสมุนไพรเพื่อการประกอบธุรกิจ



ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ความขัดแย้งและสันติศึกษา)
    ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณมหาวิทยลัย เป็นนักคิด นักวิชาการด้านสันติศึกษา พัฒนาสังคม และการแก้ไขความขัดแย้งโดยแนวทางสันติวิธี รวมทั้งเป็นผู้นำที่เสนอแนวคิดและการปฎิบัติที่สามารถส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรง เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำสภาวิทยาเขต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และ ในปี พ.ศ. 2564 ได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภา ให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล รัตนดากุล วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ชีววิทยาประยุกต์)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล รัตนดากุล ปัจจุบันดํารงตําแหน่งนายกสมาคมลุ่มนํ้าสายบุรี และเป็นที่ปรึกษาหน่วยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รวมทั้งเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอ่าวปัตตานี เป็นผู้ผลักดันให้ชาวบ้านเข้าใจองค์ความรู้จากการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ควบคู่กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และขับเคลื่อนงานเครือข่ายชุมชนโดยใช้การจัดการทรัพยากรเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันอย่างสันติวิธี



นางสาวปฐมา จันทรักษ์ วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ สําเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น 1 ใน 8 ผู้บริหารหญิงจากเกือบ 200 ประเทศ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไมโครซอฟต์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้รับเลือกเป็น Top Business women of the Year ด้วยประสบการณ์การทำงานกับองค์กรของโลก ได้นำเทคโนโลยีเข้าช่วยในการนำทีมงานเข้าร่วมสนับสนุนระบบการจองวัคซีนโควิด-19 และระบบดูแลศูนย์วัคซีน 25 แห่ง สำหรับประชาชนในกรุงเทพฯ



นายสุรชัย ตรงงาม นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
นายสุรชัย ตรงงาม มีบทบาทสำคัญในการเป็นทนายความคดีเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรม เช่น คดีฟ้องร้องค่าเสียหายเหตุรังสีโคบอลต์-60 คดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จากการสลายการชุมนุมกรณีท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย คดีฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่ว เป็นนักกฎหมายที่อุทิศตนเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมจนเป็นที่ประจักษ์ ได้รับรางวัลบุคคลเกียรติยศผู้ทำประโยชน์ให้กับสังคมด้านกฎหมายและสิ่งแวดล้อมของมูลนิธิโกมลคีมทอง 



พลเอกอรรฐพร โบสุวรรณ วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการทรัพยากรเกษตรเขตร้อน)
พลเอกอรรฐพร โบสุวรรณ ได้ริเริ่มโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรในชุมชน ช่วยเหลือราษฎรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในตำแหน่งเสนาธิการคณะทำงานโครงการพระราชดำริฯ ได้จัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงแพะนมให้แก่สมาชิกในโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านไอร์บือแต ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส จากแม่ฐานของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจากกรมปศุสัตว์ ทั้งยังมีส่วนร่วมสร้างศักยภาพด้านวิชาการ โดยสนับสนุนงานวิจัยด้านกัญชาของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 


รองศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา เชาวลิต พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พยาบาลศาสตร์)
รองศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา เชาวลิต สําเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (การพยาบาล) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาพยาบาลศาสตร์ ทั้งหลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการสําหรับสถาบันการศึกษาในเครือข่าย IMT-GT และต่อมาได้ขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ และการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาพยาบาลศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) จนทําให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างอาจารย์ในสถาบัน และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนวิชาชีพพยาบาลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศและนานาชาติ 



นายไข่ โกสินทร์ การแพทย์แผนไทยมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
นายไข่ โกสินทร์ ได้รับคัดเลือกเป็นหมอพื้นบ้านของจังหวัดสงขลา โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ศึกษาความรู้ด้านแพทย์แผนไทยด้านผดุงครรภ์ไทยจากย่า เมื่ออายุได้ 21 ปี ได้บวชและศึกษาหาความรู้ด้านสมุนไพร และการรักษาโรคต่างๆจากเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในอำเภอสิงหนคร และอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา หลังลาสิขาบทได้ทำสวน ทำนา และประกอบอาชีพหมอพื้นบ้าน มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคสตรี ทั้งการดูแลครรภ์ก่อนและหลังคลอด รวมทั้งกลุ่มโรคกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นแบบอย่างที่ดีของแพทย์แผนไทย และให้ความอนุเคราะห์ บ้านนายไข่ โกสินทธุ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาคณะแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์