ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. จับมือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ การจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ Center for Emerging SAR-COV-2 Lineage Investigation in Southern Thailand (CESLIST) โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมลงนาม รศ. นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ. ศุภศิลป์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา นายบัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายสุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการกองการแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุม 902 ชั้น 9 อาคาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย (อาคาร 14) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 64



ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการ การจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์ สายพันธุ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ Center for Emerging SAR-COV-2 Lineage Investigation in Southern Thailand (CESLIST) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ วิจัยสายพันธุ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสตลอดจีโนม ค้นหาสายพันธุ์ที่กำลังระบาดโดยการรับตัวอย่างบางส่วนจาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้และเขตสุขภาพที่ 12 กระทรวงสาธารณสุข โดยได้ดำเนินการตรวจสายพันธุ์เบื้องต้น ด้วยเทคนิค whole genome study เพื่อรายงานผลให้แก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอัพโหลดข้อมูลสู่ระบบกลางระดับสากล รวมทั้งการเก็บรวมรวมข้อมูลจีโนมเชื้อไวรัสเพื่อการศึกษาและวิจัยในอนาคต



สำหรับการดำเนินการทั้งหมด มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งในด้านเทคโนโลยี การฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบุคลากรและนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการรับบุคลากรและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเข้ารับการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือการส่งบุคลากรไปฝึกอบรมให้กับบุคลากรและนักวิจัย ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์



“การจัดตั้งศูนย์ฯ นอกจากจะทำให้การวิเคราะห์ วิจัยสายพันธุ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในภาคใต้แล้ว ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งเป็นหน่วยงานเชี่ยวชาญของประเทศ ทำให้บุคลากรและนักวิจัยมีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดมากขึ้น” อธิการบดี กล่าวทิ้งท้าย