ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.สงขลานครินทร์ ศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอุทยานธรณีโลกสตูล ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืน




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารีและศูนย์แม่ข่ายประสาน อพ.สธ. ภาคใต้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และวิทยาลัยชุมชนสตูล จัดโครงการ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำในอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยบูรณาการนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อร่วมกันศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตในถ้ำของอุทยานธรณีโลกสตูล โดยเน้นถ้ำที่เป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน (อำเภอทุ่งหว้า) ถ้ำอุไรทอง และถ้ำทะลุ (อำเภอละงู) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ไกด์ท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่จำนวน 56 คน เมื่อวันที่ 8 – 10 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา



    สำหรับคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข หัวหน้าโครงการ, ดร.โสภาค จันทฤทธิ์, ดร.เอกนรินทร์ รอดเจริญ, ดร.พรรณี สอาดฤทธิ์, ดร.อับดุลเลาะ ซาเมาะ, นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ, นางณัฐรดา มิตรปวงชน และ นางสาวอวัศยา พิมสาย



    ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ทีมวิจัยสำรวจพบสัตว์มีกระดูกสันหลัง 67 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 31 ชนิด นก 11 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน 11 ชนิด และปลา 14 ชนิด โดยสัตว์กลุ่มเด่นคือค้างคาวที่พบมากที่สุดจำนวน 14 ชนิด หนึ่งในนั้นมีชนิดที่มีสถานภาพมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ถิ่นเดียว (endemic species) ของไทย คือ ค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ



    สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่น้อยกว่า 197 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มแมง 29 ชนิด แมลง 115 ชนิด กิ้งกือ / ตะขาบ11 ชนิด แพลงก์ตอนสัตว์ 13 ชนิด กุ้ง/ปู 14 ชนิด ไอโซพอดและสัตว์พื้นท้องน้ำอื่นๆ 11 ชนิด และหอย 4 ชนิด กลุ่มที่เด่นที่สุดคือสัตว์ขาข้อในกลุ่มแมงและแมลงซึ่งสัมพันธ์กับค้างคาวเนื่องจากส่วนใหญ่อาศัยมูลค้างคาวเป็นแหล่งอาหาร จำนวนนี้มีชนิดที่คาดว่าน่าจะเป็นชนิดใหม่อย่างน้อย 4 ชนิด ได้แก่ มดคอยาวด้วงถ้ำ แมลงหางดีด และแมลงสาบทะเล ซึ่งต้องมีการตรวจสอบและศึกษาเทียบเคียงตัวอย่างเพิ่มเติมต่อไป



    จุลินทรีย์ จากตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 110 ตัวอย่าง (จากถ้ำอุไรทอง 45 ตัวอย่าง ถ้ำทะลุ 35 ตัวอย่างและถ้ำเลสเตโกดอน 30 ตัวอย่าง) พบว่า แบคทีเรียเด่นที่พบเป็นกลุ่มแอคติโนมัยซีทในสกุล Streptomyces และสกุล Nocardia และแบคทีเรียอื่นๆ เช่น สกุล Pseudomonas และ Baciilus การศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานของแบคทีเรียที่พบภายในถ้ำซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อไปได้



     “ข้อมูลจากการศึกษานี้จะมีความสำคัญทั้งเป็นการสนับสนุนในการเตรียมการประเมินซ้ำของ UNESCO ทั้งเป็นข้อมูลให้วิสาหกิจนำเที่ยวในท้องถิ่นนำไปประยุกต์เพื่อนำเสนอและดึงดูดนักท่องเที่ยว และที่สำคัญคือเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว