ข่าวชาวสงขลานครินทร์

จังหวัดสงขลา ม.อ. และ บ.โชติวัฒน์ จับมือ จัดทำ Factory Sandbox นำร่องควบคุมโควิด-19 ในโรงงาน




    จังหวัดสงขลา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และบริษัทโชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดโครงการ Factory Sandbox ควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม ณ บริษัทโชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด (มหาชน) ระบบดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการจัดการควบคุมโรคในโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดสงขลา เป็นต้นแบบให้โรงงานในจังหวัดสงขลา และโรงงานทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 64

    โครงการนำร่องเพื่อบูรณาการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานจังหวัดสงขลา (Songkhla Factory Sandbox) มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 22 สิงหาคม 2564 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานพร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รองศาสตราจารย์ นพ. เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ นพ.วีระพันธุ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 นพ.อนุรักษ์ สารภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สงขลา นางสุจินดา บุญแอ แรงงานจังหวัดสงขลา นายชวกิจจ์ สุวรรณคีรี นายอำเภอหาดใหญ่ นายรัตน์นริศ สุวรรณรัตน์ สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หาดใหญ่ และนายทวีศักดิ์ ทวีรัตน์ นายกเทศมนตรีเมืองคอหงส์ โดยมี นางกัญจนา เกลี้ยงเกลา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ. ชิดชนก ลีธนะกุล คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. หัวหน้าส่วนราชการในอำเภอหาดใหญ่ คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองคอหงส์ และทีมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี และ นายสมนึก โชติวัฒนะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด (มหาชน) นายสมบูรณ์ โชติวัฒนะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินฯ และ นางสาวอัจฉรา โชติวัฒนะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลฯ รวมถึงพนักงานบริษัทโชติวัฒน์ฯ ให้การต้อนรับ



    นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวขอบคุณบริษัทโชติวัฒน์ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และขอบคุณคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่พัฒนาการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมทั้งระบบ ตั้งแต่การตรวจคัดกรองเชิงรุก การสอบสวนโรคและการแยกกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยง การควบคุมพื้นที่เฉพาะ การรักษาผู้ป่วยด้วยโรงพยาบาลสนามภายในโรงงานเพื่อลดผลกระทบการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยจากชุมชน การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไปเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลหลักอย่างมีระบบทันท่วงที และการใช้ระบบอาชีวอนามัยเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน เป็นต้นแบบให้กับโรงงานอื่น ๆ ต่อไป 

    รศ. นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากให้กับโรงงานในจังหวัดสงขลา และโรงงานทั่วประเทศ ทำให้การทำงานในโรงงานสามารถเดินต่อได้ ได้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการแพทย์



    รองศาสตราจารย์ พญ. มณฑิรา ตัณฑนุช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และผู้ดำเนินโครงการ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ตระหนักถึงผลกระทบต่อเสถียรภาพในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา จึงหารือร่วมกันกับคณะทำงานเพื่อได้นำประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผนวกกับระบบนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศบนแพลตฟอร์ม https://home.songkhla.care/ ต่อยอดเป็นระบบโรงพยาบาลสนามในโรงงาน (Factory Accommodation Isolation, FAI) โดยเมื่อประเมินอุบัติการณ์ของโรค และความพร้อม จึงพิจารณาให้ บริษัทโชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิตจำกัด (มหาชน) ร่วมดำเนินการภายใต้โครงการนำร่อง ตามความเห็นชอบจาก สสจ. สงขลา และการสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. เขต 12 ส่งมอบกล่อง “หาย-ห่วง” อาหารทั้ง 3 มื้อ การดูแลจากทีมแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จัดเตรียมรถพยาบาลส่งต่อการรักษาผู้ป่วย มายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์



    ผู้ช่วยศาสตรจารย์ สาวิตร์ ตัณฑนุช คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. รายงานการดำเนินมาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ตามแนวทาง ศบค. เริ่มจากการตรวจเชิงรุกในกลุ่มพนักงานด้วยวิธีการตรวจแอนติเจนด้วยตนเอง (Antigen Test Kit, ATK) สามารถรู้ผลได้ภายใน 15 นาที ลดเวลาในการกักตัวพนักงาน เปรียบเทียบวิธี RT-PCR มีความแม่นยำและความไวในการตรวจสูง แต่ต้องรอผล 24-48 ชั่วโมง ผลการทดสอบใช้ ATK ในโรงงานพบว่า ชุดตรวจผ่านน้ำลายที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและยา สามารถลดการบาดเจ็บและอาการไม่พึงประสงค์ในโพรงจมูก ลดความเสี่ยงผู้ตรวจจากละอองฝอยการไอ-จามของพนักงานระหว่างรับการตรวจ ลดระยะเวลาการกักตัวรอผลตรวจ พนักงานมีความพึงพอใจในการตรวจผ่านน้ำลายมากกว่าการตรวจผ่านโพรงจมูก พนักงานที่ผลตรวจเป็นบวกจะส่งต่อเข้ารักษาใน FAI และพนักงานที่มีผลการตรวจเป็นลบจะเข้าสู่ระบบแยกพักในสถานที่ควบคุมที่โรงงานจัดไว้ สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับชุมชน สามารถวางแผนบริหารการผลิตและกำหนดพื้นที่ควบคุมภายในโรงงานให้สอดคล้องกับแนวทาง “ตรวจ รักษา ดูแลและควบคุม”ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 



    นายเสกสรร เลิศรัตนาพร ผู้ช่วยประธานบริหารเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลฯ บริษัทโชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด (มหาชน) รายงานจำนวนพนักงานปฏิบัติงานในบริษัท จำนวน 3,712 คน เป็นคนไทย 2,087 คน ต่างชาติ 1,625 คน มีพนักงานเข้าสู่ระบบ bubble and seal จำนวน 2,621 คน โดยได้มีการจัดการที่พักในโรงแรมและรถรับส่งกลุ่มคนงานชาวต่างประทศ ตั้งแต่ วันที่ 1-28 สิงหาคม 2564 และจัดที่พักในโรงแรมและรถรับส่งให้กับคนงานชาวไทย ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม ถึงวันที่ 5 กันยายน 2564 พร้อมอาหาร 3 มื้อ ให้กับพนักงาน มีพนักงานที่ไม่ได้ปฏิบัติงานเนื่องจากโรงงานลดกำลังการผลิตจำนวน 824 คน และมีพนักงานที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไข bubble อาทิ ตั้งครรภ์/ลาคลอด WFH พักรักษาตัว จำนวน 267 คน สามารถวางแผนบริหารการผลิตโดยนำพนักงานเข้าปฏิบัติงานในเฟส 1 จำนวน 1,826 คน และ เข้าปฏิบัติงานในเฟส 2 จำนวน 795 คน  

    นายจิรัฎฐ์ ชัยสุนทรานนท์ ผู้จัดการฝ่ายห้องเย็นและผู้ประสานงาน ATK/FAI รายงานการตรวจเชิงรุก การเตรียมพื้นที่และการดูแลพนักงานใน FAI ข้อมูล ณ 21 ส.ค. 64 ไม่พบผู้ป่วยใหม่ติดต่อกันเป็นวันที่ 2 มีผู้ป่วยสะสม 36 ราย รักษาตัวใน FAI 28 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม 5 ราย หายป่วย 3 ราย การนำ ATK ตรวจคัดกรองพนักงาน ทำให้การคัดแยกและควบคุมการแพร่ระบาดภายในโรงงานลดลงอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล สร้างความเชื่อมั่นในการอย่างร่วมกันอย่างปลอดภัยระหว่างชุมชนและโรงงาน



    นพ. พุฒิพร พุทธวิบูลย์ รายงานการใช้งาน https://home.songkhla.care ลงทะเบียน การติดตามอาการผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถส่งต่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที มีระบบประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยงานสิทธิประโยชน์ผู้ป่วย โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สามารถสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทฯ ในการดูแลสวัสดิการพนักงาน เพิ่มขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน 

    นายสมนึก โชติวัฒนพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด (มหาชน)  กล่าวสรุปว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และขอบคุณ ม.อ. ที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือบริษัทฯ ในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดในโรงงาน ปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานประมาณ 800 คน แต่ยังไม่เพียงพอ จึงขอการจัดสรรวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา สนับสนุนวัคซีนให้กับภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดสงขลา เพื่อให้ดำเนินโครงการนำร่อง Songkhla Factory Sandbox ได้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ 


    จากนั้น แขกผู้มีเกียรติได้ร่วมให้กำลังใจพนักงานที่พักรักษาตัวใน FAI ผ่านระบบ VDO call และส่งพนักงานที่รักษาตัวจนกำหนด 14 วัน จำนวน 22 คน ไปยังสถานที่แยกกักตัว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าปฏิบัติงานตามระบบ Bubble and Seal ในเฟสถัดไป