ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.สงขลานครินทร์ ร่วมภาคีวิจัยโลกอนาคต ดันงานวิจัยไทยสู่ “เศรษฐกิจอวกาศ”




    กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดงานประชุมวิชาการและการสัมมนานานาชาติ “การวิจัยขั้นแนวหน้า ระบบโลกและอวกาศ ครั้งที่ 1/2564" (The 1st International Symposium on Earth Space System Frontier Research Thailand 2021) ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีแผนการดำเนินการวิจัยพัฒนาสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีนวัตกรรมอวกาศ นำไปสู่ “New Space Economy” หรือ “เศรษฐกิจอวกาศ” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของ อว. ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อสร้างโอกาสให้เศรษฐกิจไทย” และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวรายงานความร่วมมือการจัดงานประชุม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในวันที่ 24 มิ.ย. 64


 
    ภายในงานยังจัดให้มีการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ Future Earth Thailand Consortium ภายใต้ Earth Space System Frontier Research Thailand ร่วมกับ 7 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ. นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วม เพื่อร่วมกันประชาพิจารณ์แผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าด้านระบบโลกและอวกาศ อันจะนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ ให้เป็นไปตามเป้าหมายและผลลัพธ์ที่คาดหวัง ผ่านการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้เศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต



    รศ. นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และการทำงานวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ และยังเป็นหนึ่งใน 7 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศในการเป็นภาคีวิจัยโลกอนาคตแห่งประเทศไทย (Future Earth Thailand Consortium) เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ธรรมชาติ และภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต