ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี 32 โรงเรียน




คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี 32 โรงเรียน จัดโครงการนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 (Open House 2024) โดยโครงการวิจัย “การพัฒนากลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมี นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธาน รศ. ดร.อาทิตย์ อินทรสิทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายหลักสูตรและส่งเสริมการเรียนรู้ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับ และ ดร.สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี กล่าวรายงาน ณ ห้องน้ำพราวบอลรูม โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 



จากนั้น มีการนำเสนอผลงานดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย รศ. ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง ผศ. ดร.วรภาคย์ ไมตรีพันธ์ ผศ. ดร.จุฑา ธรรมชาติ การแสดงผลการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมของแต่ละโรงเรียน การเสวนา “ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี” และสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดปัตตานี การอบรมเชิงปฏิบัติการ “จากการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาสู่ วPA” และพิธีมอบโล่เกียรติคุณการเข้าร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรม




รศ. ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนากลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรม การบริหารและการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดปัตตานี ว่า จังหวัดปัตตานี ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาในท้องถิ่น โดยมุ่งมั่นส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านกรอบหลักสูตร Pattani Heritage ซึ่งสนับสนุนให้นักเรียนไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้จากสภาพจริงของชุมชน การใช้ระบบการบริหารแบบ Objective Key Results (OKRs) ได้ช่วยให้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดเป้าหมายและวัดผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน ทำให้เห็นการปรับปรุงและความก้าวหน้าในทิศทางที่ต้องการ 




นอกจากนี้ ยังเน้นการสร้างการเรียนรู้ที่มีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่รอบด้านและเกื้อหนุนต่อการพัฒนาทักษะของนักเรียนในหลากหลายด้าน ผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีการพัฒนาทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออกเขียนได้, การคิดวิเคราะห์, และการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการค่อย ๆ เดินเข้าใกล้เป้าหมายที่สำคัญของจังหวัดตามแนวคิด SMART + I อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาได้อย่างยั่งยืน โครงการนี้ยังคงต้องพึ่งพาการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อความสำเร็จที่ต่อเนื่องและรอบด้าน การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างยั่งยืนควรเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการท้องถิ่น การใช้ข้อมูลและผลลัพธ์จากการวิจัยเป็นฐานในการตัดสินใจ, พร้อมกับการประเมินและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง, จะช่วยให้การศึกษาในพื้นที่นั้นมีประสิทธิภาพและปรับตัวได้ดีตามบริบทที่เปลี่ยนไป