ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ร่วมเปิดตัวหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” 8 ภาษา ส่งเสริมแหล่งศึกษาค้นคว้าเชิงประวัติศาสตร์ ระดับนานาชาติ




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ เข้าร่วมงาน สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง : องค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนสู่อนาคต เปิดตัวหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” 8 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส พม่า มลายู เขมร เวียดนาม ภายใต้โครงการ เผยแพร่และส่งเสริมองค์ความรู้งานวิจัยว่าด้วยสุวรรณภูมิ (Translation and publication new knowledge on Suvarnabhumi) โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. ผศ.ชวลิต ขาวเขียว รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ม.ศิลปากร และผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา นพ.บัญชา พงษ์พานิช คณะกรรมการอำนวยการวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) นายสมปอง สงวนบรรพ์ ผู้อำนวยการสถาบันโลกคดีศึกษา และนางสาวฉัตต์ธิดา บุญโต ผู้อำนวยการธัชชา เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (อาคารพระจอมเกล้า) 



สำหรับหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” เรียบเรียงขึ้นจากหนังสือ “สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรม เชื่อมโยงโลก (Suvarnabhumi Terra Incognita)” ภายใต้โครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยี อวกาศและภูมิสารสนเทศ โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งได้ข้อสรุปที่ประมวลจากผลงานการศึกษาของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีชั้นนําของไทยและโลก ล้วนสรุปตรงกันว่าสุวรรณภูมิไม่ได้เป็นเพียงดินแดนในจินตนาการที่เลื่อนลอย แต่มีความเป็นไปได้มากที่มีอยู่จริง ซึ่งตั้งอยู่ ณ อาณาบริเวณระหว่างอินเดียกับจีนที่ทุกวันนี้เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์โบราณคดี หลักฐานส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่า สุวรรณภูมิดำรงอยู่ในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา จนในระยะหลังเริ่มพบหลักฐานที่สอดคล้องกับที่ปรากฏในบันทึกสมัยโบราณต่าง ๆ โดยเฉพาะการพบหลักฐานใหม่ ๆ ที่มีค่าอายุสมัยใกล้เคียงสอดคล้องกัน คือ สุวรรณภูมิดำรงอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 1 – 7 อีกทั้งยังมีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาที่มีบทบาทมากต่อสุวรรณภูมิอีกด้วย



นอกจากนี้ องค์ความรู้ว่าด้วย “สุวรรณภูมิ” ยังมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ของรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาค ความสัมพันธ์ทางการเมืองและปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคนี้กับภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก การเผยแพร่และส่งเสริมองค์ความรู้จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติต่าง ๆ อาทิ ความสัมพันธ์ ความเข้าใจระหว่างประเทศในระดับประชาชน การเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนความรู้ การส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน

ดังนั้น การแปลเนื้อหาและจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่หนังสือสุวรรณภูมิเป็นภาษาต่างประเทศ 8 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส พม่า มลายู เขมร และเวียดนาม จะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาค และนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าด้านการก่อตั้งรัฐ พัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในภูมิภาคนี้และภูมิภาคที่ห่างไกลออกไป และมีผลต่อการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศและวัฒนธรรม



ขอบคุณภาพข่าวจาก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)