ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ทีมนักวิจัย ม.อ.ปัตตานี ขับเคลื่อนกระบวนการผลิตข้าวเกรียบ กลุ่มผู้ประกอบการ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี




ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมภาคีเครือข่ายลงพื้นที่ติดตามผลและแก้ปัญหากระบวนการผลิตข้าวเกรียบ แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดปัตตานี โดยส่งเสริมทักษะอาชีพและการแปรรูปอาหารทะเลตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยมี ผศ. ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยพบว่า ปัญหาในการผลิตเป็นเรื่องของคุณภาพและความคงทนของเตาเผาต้มข้าวเกรียบที่มีระยะการใช้งานที่ไม่คุ้มทุน



ผศ. ดร.ฟารีดา หะยีเย๊ะ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนักวิจัยโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดปัตตานีโดยส่งเสริมทักษะอาชีพและการแปรรูปอาหารทะเลตลอดห่วงโซ่คุณค่า เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว ดำเนินมาเฟสที่ 4 แล้ว เป็นระยะเวลา 4 ปี โดยครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ติดตามผลและแก้ปัญหาให้กลุ่มข้าวเกรียบดาโต๊ะ ถือเป็นต้นกำเนิดข้าวเกรียบในปัตตานี ต่อเนื่องจากการลงพื้นที่มาครั้งที่แล้ว จากการสอบถามพบว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมครัวเรือน คือ การใช้อิฐธรรมดาในการก่อสร้างเตาต้มข้าวเกรียบ ทำให้ความทนทานและระยะการใช้งานของเตาเมื่อโดนความร้อนจัด ๆ จะมีรอยแตกร้าว ผู้ประกอบการต้องซ่อม หรือทุบทิ้งเพื่อสร้างขึ้นใหม่ทุก ๆ ระยะเวลา 3-4 ปี เกิดปัญหาเรื่องของความคุ้มทุน เรื่องการเสียเวลาในการดำเนินการ การหยุดปรับปรุงหลาย ๆ วัน ทำให้สูญเสียรายได้เป็นเงินจำนวนมาก คณะนักวิจัยจึงได้นำเสนอการแก้ปัญหา โดยให้มีการใช้อิฐทนไฟแทนอิฐธรรมดา ซึ่งจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี กว่า จะมีรอยร้าวหรือต้องมีการทุบสร้างใหม่ ถึงแม้ราคาจะสูงกว่าแบบเดิมหลายเท่า แต่ถ้าเทียบกับความคุ้มทุนและระยะเวลาการใช้งานถือว่าคุ้มกว่าอิฐธรรมดา 



กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิค และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยสงขลา ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายกับ ม.อ.ปัตตานี ในหลาย ๆ โครงการที่ผ่านมา ในการออกแบบเตาโดยใช้อิฐทนไฟ ร่วมกับ ทีมวิจัย ของ ม.อ.ปัตตานี และผู้ประกอบการ โดยได้นำองค์ความรู้ด้านวิชาการ มาใช้ร่วมกับทักษะการใช้งานจริงของผู้ประกอบการ ถือเป็นการทำงานที่เห็นภาพของการบูรณาการณ์ร่วมกันอย่างชัดเจน เชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อคนในชุมชนอย่างแท้จริง



ด้าน อาจารย์ชุมพร หนูเมือง หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนักวิจัยฯ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยได้ให้ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เรื่องสุขลักษณะที่ดีในการผลิต สถานที่ผลิต อุปกรณ์เครื่องมือ รวมถึงกระบวนการและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อให้อาหารมีความสะอาดปลอดภัย และการเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ปัญหาทั่วไปที่พบในการผลิตส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นเรื่องสุขลักษณะ ทีมงาน และการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผลิตนั้น ยังมีมูลค่าน้อย มีหลายกลุ่มไม่ได้มีกระบวนการวางแผนเรื่องต้นทุนและกำไรที่ชัดเจน ทางโครงการฯ จึงได้แนะนำแนวคิดความสามารถในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากการติดตามผลได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของผู้ประกอบการมากขึ้น ผู้ประกอบการรับฟังและเปลี่ยนแนวคิด ตระหนักถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์มากขึ้น และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้กลุ่มมีความเข้มแข็งและความยั่งยืนมากขึ้น ทีมวิจัยพยายามให้ข้อมูลเรื่องความยั่งยืนทุกครั้งที่มีการประชุมร่วมกัน สิ่งที่ทีมวิจัยคาดหวัง คือ การส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการทางด้านการตลาดแบบยุคดิจิทัล การใช้เครื่องมือของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งนี้ต้องเกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้ประกอบการและคนในชุมชนเอง


ขณะที่ นายบูคอรี ตาแกะ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมครัวเรือนผลิตข้าวเกรียบ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ประชาชนในตำบลแหลมโพธิ์ กว่า 10 ครัวเรือน ประกอบอาชีพผลิตข้าวเกรียบ โดยจำหน่ายตามตลาดทั่วไปและตลาดออนไลน์ อาทิ จ.สุโขทัย จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง ตนได้ทำอาชีพผลิตข้าวเกรียบ กว่า 30 ปี โดยเป็นรุ่นที่ 2 สืบทอดมาจากรุ่นพ่อแม่เป็นรุ่นแรก ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการฯ ในเฟสที่ 4 จากการแนะนำของผู้นำในหมู่บ้าน ปัญหาที่กลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่พบเจอ คือความคงทนและคุ้มทุนของเตาต้มข้าวเกรียบ ที่มีอายุการใช้งานเพียง 3-4 ปี การที่ทีมนักวิจัย ม.อ.ปัตตานี และภาคีเครือข่าย เข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องเตาต้ม ขอขอบคุณทีมวิจัย ม.อ.ปัตตานี ที่เข้ามาให้ความรู้ ทั้งเรื่องขั้นตอนผลิตที่ถูกสุขลักษณะ การตลาด การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของกลุ่ม เชื่อว่ากลุ่มผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ตรงนี้ ต่อยอดและส่งต่อองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในชุมชน และกลุ่มที่ด้อยโอกาสกว่าได้