ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สมาคมศิษย์เก่า ม.อ. เชิญรับฟังเสวนาออนไลน์ฟรี “Carbon Credit ขุมทรัพย์ใกล้ตัว”




ทำไม ต้องมีคาร์บอนเครดิต?

โลกร้อนกำลังเป็นวาระของโลก เราอาจจะรู้สึกว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1-2 องศานั้น ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย แต่สังเกตหรือไม่ว่า อุณหภูมิปกติของร่างกายคนอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส แต่เมื่อไหร่ที่อุณหภูมิของเราขึ้นไปแค่ 2 องศา ถึง 39 องศา ร่างกายจะป่วยทันที

เรายังดีกว่าพวกสัตว์น้ำ ตรงที่เมื่อมีอากาศร้อน เราก็ไปหลบในที่ร่มได้ แต่สัตว์น้ำ เช่นปะการัง ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างคน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเพียงแค่ 1-2 องศา มันจะฟอกขาวและตายทันที ทำให้สัตว์อื่นๆที่อาศัยร่มเงาของมันตายไปด้วย เช่น ลูกปลาทั้งหลาย

โลกร้อนไม่เพียงแต่ทำให้สัตว์น้ำตาย ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลียและแคลิฟอร์เนีย ทำให้มีน้ำท่วมใหญ่ในทะเลทราย อย่างดูไบ หรือประเทศยักษ์ใหญ่อย่างในจีนและอินเดีย หากเราไม่จัดการกับภาวะอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นทุกวัน โลกจะมีปรากฏการณ์ร้ายๆเกิดขึ้น หนักขึ้นทุกวัน

นักวิทยาศาสตร์สังเกตว่า คาร์บอนไดออกไซด์ หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ คือตัวที่ทำให้โลกร้อน ดังนั้น จึงพยายามลดกิจกรรมหรือการผลิตที่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด หรือให้เป็นศูนย์ ที่เราเรียกว่า  Net Zero 

แต่บางกิจกรรม การผลิตต้องเกิดคาร์บอนไดออกไซด์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ประชาคมโลกจึงมีข้อตกลงกันว่า เมื่อคุณผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มาก ก็ต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตมาจากกลุ่มที่เขาสามารถทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ลดลงได้ เพื่อให้มาหักล้างกัน จึงทำให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้น

คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กำหนดให้บริษัทสามารถปล่อยได้ต่อปี หากปล่อยมลภาวะน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำส่วนต่างไปจำหน่ายให้กับบริษัทอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งสิ่งนี้นี่เองที่เราเรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ถูกนำมาใช้เป็นแรงจูงใจ และเป็นส่วนหนึ่งของกลไกลตลาด เพื่อโน้มน้าวให้โรงงานอุตสาหกรรม และผู้ผลิตรายใหญ่ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ (อ้างอิงจากไทยรัฐ)

เป็นที่โชคดีว่า ภาคใต้ของไทยมีฝนตกชุก ทำให้มีสวนป่ามากมาย ทั้งสวนยางสวนปาล์ม หรือแม้กระทั่งป่าโกงกาง ที่เป็นป่าชุมชน ป่าเหล่านี้ผลิตออกซิเจนโดยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ปีหนึ่งมากมายมหาศาล ถ้าเราปล่อยไว้เฉยๆ มันก็มามลายหายไปในอากาศ เจ้าของป่าก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าเราสามารถคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตได้ ก็สามารถนำไปขายให้กับผู้ที่จำเป็นต้องซื้อ

ตอนนี้ องค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ได้กำหนดมาตรการเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง ในการนำเข้าสินค้าเข้ายุโรป ดังนั้น อุตสาหกรรมไหนที่ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มาก ก็จะถูกกีดกัน เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ว่า ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตมาหักล้าง จึงจะอนุญาตให้นำเข้าสินค้าเข้าสู่ประเทศเหล่านั้นได้

คาร์บอนเครดิตจึงกลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ สำหรับคนที่มีสวน มีป่า ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากๆ ส่วนซื้อขายกันอย่างไร สามารถฟังได้จากการเสวนาออนไลน์ ที่จัดโดยสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์เวลา 13:30 น. ตรง 

สมาคมศิษย์เก่า ม.อ. จะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทุกท่านเข้าฟังฟรี เพียงแต่ใส่รหัสเข้าประชุมซูมว่า 
 - Meeting ID: 932 2237 3911 
 - Passcode : psu
หรือคลิกที่ลิงก์ zoom 
Join Zoom Meeting
https://psu-th.zoom.us/j/93222373911?pwd=Q0t2MjJtQlorSnZzNEcrZm1VUmJVQT09