ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. เผยแพร่งานบริการวิชาการกับการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมมอบอุปกรณ์เครื่องวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ หนุนองค์ความรู้เพื่อฟื้นฟูการพัฒนาปัญญาฐานกาย




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (สมส.) จัดกิจกรรมเผยแพร่งานบริการวิชาการกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และมอบอุปกรณ์เครื่องวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อฟื้นฟูการพัฒนาปัญญาฐานกาย โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุม EILA 5 ชั้น 8 อาคารทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลงฯ อาคาร 1 (LRC1) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา




    การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ เป็นภารกิจที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับแหล่งทุนจากส่วนกลางและเครือข่ายจัดการศึกษาในพื้นที่ เพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีโค้ชด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก จิตตปัญญา การพัฒนาปัญญาฐานกาย และมีองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่เป็นอย่างดี ระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ได้ประสานแหล่งทุนเพื่อจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาคใต้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าว จำนวน 14 โครงการ ได้รับทุนสนับสนุนจาก 5 แหล่งทุน มีโรงเรียนเป้าหมายได้รับการพัฒนาในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นความสำคัญในการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนในระดับประถมศึกษาตอนต้น หากครูมีเครื่องมือวัดความเข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กสามารถประเมินได้ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ ทำให้สามารถวางแผนจัดกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงสนับสนุนเครื่องมือ และองค์ความรู้การพัฒนาปัญญาฐานกาย และทำให้ครูรู้วิธีการวัดประเมินผลเปรียบเทียบและนำไปพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมอบเครื่องวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ จำนวน 100 ชุด แก่โรงเรียนในจังหวัดสงขลาจำนวน 53 แห่ง ทำให้ครูสามารถนำไปใช้วัดประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือของนักเรียนในโรงเรียนเป้าหมาย จำนวน 6,204 คน



    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่ภาคใต้กับหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ เพื่อเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนอย่างเต็มศักยภาพ สร้างเยาวชนในมีทักษะศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้พัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพการเรียนรู้ให้ทัดเทียมกับพื้นที่อื่น ๆ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป