ข่าวชาวสงขลานครินทร์

นักธรณีฟิสิกส์ ม.อ. แนะวิธีการเฝ้าระวังจากปรากฎการณ์ ปราสาทหินพันยอดถล่ม




    จากเหตุการณ์หินถล่มที่บริเวณปราสาทหินพันยอด จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นหินยุคเก่าแก่อายุกว่า 488 ล้านปี พังถล่มลงมาบริเวณใกล้ปากทางเข้าปราสาทหินพันยอด ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล ได้ประกาศปิดปราสาทหินพันยอดชั่วคราว หลังเกิดหินถล่ม เมื่อเวลา 05.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ได้ขับเรือตรวจการณ์ออกสำรวจพื้นที่โดยรอบ พบว่า ได้มีหินถล่มบริเวณปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะมีหินถล่มมาอีก จึงได้ออกประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวบริเวณปราสาทหินพันยอดเป็นการชั่วคราว รวมทั้งได้สั่งการให้นำเชือกพร้อมธงแดงไปติดตั้งเพื่อเป็นสัญลักษณ์ห้ามเข้าบริเวณอันตราย และประชาสัมพันธ์ไปยังวิสาหกิจชุมชนนำเที่ยว ขอให้งดให้การนำเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว



    รองศาสตราจารย์ ดร.สวัสดี ยอดขยัน หลักสูตรฟิสิกส์ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้พูดถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ ว่า เกิดจากเรื่องของเสถียรภาพหรือการเสียสมดุลของมวล (นั่นคือหิน) อาจจะมีรอยแตกหรือรอยแยกจากกระบวนการแปรสัณฐานหรือการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก จากกรณีปราสาทหินพันยอดถล่ม ปัจจัยการถล่มมีหลายสาเหตุ อาทิ การกระทำจากน้ำ กระแสลม หรือแผ่นดินไหว ที่เข้ามากระตุ้น รวมถึงอุณหภูมิที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ 
ปัจจัยในการเฝ้าระวังจากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย ดังนี้

1. ลักษณะทางธรณีวิทยาต้องตรวจสอบว่าเขาเป็นหินหรือดินประเภทใด เพราะแน่นอนว่าการถล่มหรือการยึดเกาะของหินแต่ละประเภทค่อนข้างต่างกัน ต้องรู้ลักษณะของธรณีวิทยาว่าเป็นประเภทไหน

2. ต้องทราบลักษณะภูมิประเทศหรือโครงสร้างที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากความชันเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเฝ้าระวัง

3. ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระแสลม กระแสน้ำ ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ที่สำคัญคือการมอนิเตอร์โดยการใช้ภาพถ่ายทางอากาศหรือทางดาวเทียมอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจใช้นักวิทยาศาสตร์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจพื้นที่ ติดตาม เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง จะเป็นวิธีสำคัญในการเฝ้าระวัง 


  

ติดตามการให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ได้ที่ https://youtu.be/AZUqmx87VTo