ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สถาบันฮาลาล ม.อ. ปฐมนิเทศนักศึกษาหลักสูตร “การจัดการระบบกิจการฮาลาล” รุ่นที่ 4




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันฮาลาล จัดกิจกรรมปฐมนิเทศหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล รุ่นที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดงาน ผศ. ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย บุคลากร และผู้เรียนในหลักสูตรเข้าร่วมงาน ณ ห้องคาลิสฮอล์ 1 โรงแรมอัลฟาฮัจย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66




    ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวว่า หลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล รุ่นที่ 4 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านฮาลาล เพื่อผลักดันให้หลักสูตรการจัดการระบบมาตรฐานเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเชื่อมั่นในระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศต่อไป



    ด้าน ผศ. ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล กล่าวว่า สถาบันฮาลาล จัดทำหลักสูตร Non Degree การจัดการระบบกิจการฮาลาล เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในกิจการฮาลาลทั้งระบบแบบมืออาชีพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีพื้นฐานองค์ความรู้ด้านฮาลาลที่สามารถให้คำปรึกษา การบริหารจัดการควบคุม ตรวจสอบ และดูแลระบบฮาลาลในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถนำองค์ความรู้ไปจัดการองค์กรหรือสถานประกอบการตามมาตรฐานฮาลาล 



    โดยการเรียนการสอนจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน คือ ภาคทฤษฎีจำนวน 2 เดือน ณ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และภาคปฏิบัติจำนวน 1 เดือน ณ อาคารศูนย์การเรียนภาคปฏิบัติ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ สามารถแบ่งกลุ่มผู้เรียนจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. บัณฑิตวุฒิปริญญาตรีด้านกฎหมายอิสลาม อิสลามศึกษา และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2. บัณฑิตวุฒิปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ คหกรรมศาสตร์ ชีววิทยา และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 3. บัณฑิตทุกสาขาวิชา (ทั่วไป) และ 4. ผู้เรียนมาจากโควต้าสมาพันธ์กรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้ 



    ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2566 จะมีหลักสูตรรุ่นพิเศษเป็นนักศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งมีผู้เรียน จำนวน 40 คน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสามหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้